ประวัติโรงเรียน


                “สวนสุนันทา” ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถแบบเจ้านายในยุโรป เมื่อครั้งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตร คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ.2449 โดยตั้งพระทัยจะสร้างให้มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด จึงทรงสร้างเป็น “สวนป่า” ต่อมาโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับของเจ้าจอม และเจ้าจอมมารดาที่มีแต่พระราชธิดา เพื่อจะได้ไม่ต้องระหกระเหินเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน แต่ทว่าการสร้างตำหนักต่างๆ ยังมิทันเสร็จดี พระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) จึงทรงรับเป็นพระราชธุระดำเนินการสร้างจนแล้วเสร็จเรียบร้อย     แต่การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 มิได้กระทบกระเทือนทางราชสำนักฝ่ายในของสมเด็จพระราชบิดาแต่อย่างใด พระราชธิดาและเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 จึงมิได้โยกย้ายเข้าไปอยู่ตามพระราชประสงค์ ตำหนักต่างๆในสวนสุนันทาจึงถูกทิ้งร้าง ถึงขนาดหญ้าสูงท่วมหัวจนกระทั่ง ปลายรัชกาลที่ 6 พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดาซึ่งเสด็จย้ายไปอยู่กับพระโอรส ที่วังลดาวัลย์ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จเข้าประทับ ณ ตำหนัก ที่โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างไว้สำหรับพระองค์ จึงเป็นโอกาสให้เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯไปอยู่ในสวนสุนันทา คราวเดียวกันทั้งหมด สวนสุนันทาจึงมีชีวิตชีวาครึกครื้นกลายเป็นศูนย์กลางของราชสำนักฝ่ายใน เนื่องจากพระมเหสีที่ทรงอิสริยยศสูงกว่าสมเด็จพระวิมาดาเธอฯมิได้ประทับอยู่ในวังสวนสุนันทา พระวิมาดาเธอฯ จึงทรงอยู่ในฐานะเป็นประธานในวังสวนสุนันทา

                                                                              

            

               ด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ทรงมีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตลอดรัชสมัย ให้ทรงซึมซับพระราชปณิธานในพระบรมชนกนาถ   ที่ทรงปรารถนาให้บ้านเมืองก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่านานาอารยประเทศ ดังนั้นแม้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต แล้วก็ทรงสืบสานเจตนารมณ์ โดยโปรดจัดตั้งสถานศึกษาสำหรับข้าหลวงขึ้นภายในตำหนักวังสวนสุนันทา ชื่อ โรงเรียนนิภาคาร ในปี พ.ศ. 2467 เปิดสอนตามหลักสูตรสมัยนั้น รวมทั้งอบรมมารยาทและสอนการฝีมือ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลทรงเป็นทั้งอาจารย์และทรงอำนวยการสอนโดยโปรดจ้างครูสตรีทั้งไทยและต่างประเทศ มาสอน ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการ พระองค์ทรงรับวิทยาการและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เป็นประโยชน์เข้า มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สตรีที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนิภาคารได้ออกไปใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่อย่างมีคุณภาพแต่มิได้ทรงทอดทิ้งคุณสมบัติของกุลสตรีไทยจนเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าสตรีที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนนิภาคารจะมีความเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ และความสามารถในทุกๆด้าน กล่าวโดยรวมว่า วังสวนสุนันทาคือศูนย์กลางวัฒนธรรมประเพณีของพระราชสำนักฝ่ายในสมัยสุดท้ายแห่งระบอบราชาธิปไตย

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ.2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบรมวงศ์ไม่แน่พระทัย ในสถานการณ์บ้านเมืองเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงพากันออกไปประทับนอกวังสวนสุนันท วังสวนสุนันทา จึงถูกร้างอีกวาระหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี จนสมัยรัชกาลที่ 8 นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีและคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มอบวังสวนสุนันทาให้แก่ คณะรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นที่อยู่ของรัฐมนตรี และผู้แทน ราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าไม่พร้อมที่จะใช้สถานที่นี้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงลงมติมอบวังสวนสุนันทาให้แก่กระทรวงธรรมการ จัดตั้งเป็นสถานศึกษาของกุลสตรี ส่วนกรรมสิทธิ์ในสถานที่ยัง เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่และกันเขตบางแห่งไว้ วังสวนสุนันทาในครั้งนั้นมีอาณาเขต 122 ไร่ (พื้นที่ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และกรมการปกครองรวมกัน) ตั้งชื่อโรงเรียนว่า

               “สวนสุนันทาวิทยาลัย” มีอาคาร 20 กว่าหลังเริ่มเปิด การเรียนการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยมี อาจารย์นิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์เป็นอาจารย์ใหญ่ท่านแรก เมื่อเริ่มเปิดเรียนจัดการศึกษาเป็น2แผนก คือแผนกสามัญ (ชั้น ป.1 – ม.8) สำหรับให้นักเรียน ฝึกหัดครู ฝึกสอน และแผนกวิสามัญ (การฝึกหัดครู) ทั้งยังเปิดเลขานุการด้วยได้รับโอนนักเรียนหญิชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 จาก โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย โรงเรียนสตรีโชติเวช มาเรียนรวมกันที่นี่ และย้ายนักเรียน ฝึกหัดครูประถมหญิงจากโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ มาอยู่ที่นี่ด้วย โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย จึงเป็นโรงเรียนหญิงที่ใหญ่ที่สุด และเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมแห่งแรกในสมัยนั้น แบ่งการบริหารเป็น ฝ่าย ประถมฝ่ายมัธยม และฝ่ายฝึกหัดครู

       

ยุคแรกฝ่ายประถม

ในยุคแรกแผนกสามัญฝ่ายประถมเปิดสอนชั้น ป.1 – 4 ใช้อาคาร 25 , 26 และ 28 เป็นที่เรียน (ปัจจุบัน รื้อถอนหมดแล้ว) ต่อมา ปี พ.ศ. 2483 เปิดสอนชั้นเตรียมประถม และยุบไปเปิดที่โรงเรียน อนุบาลละอออุทิศ แทน ระหว่างปี พ.ศ. 2484 - 2488 เกิดน้ำท่วมใหญ่ และประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม มีการย้ายไปเรียนที่ต่างจังหวัดบ้าง ขออาศัยเรียนที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์(เดิม) บ้าง กว่าจะกลับเข้าสู่สภาพปกติได้ในปีพ.ศ.2489ต่อ มา ปี พ.ศ. 2491 รับโอนนักเรียนประถม จากโรงเรียนละอออุทิศ มารวมไว้ที่แผนกประถมของสวนสุนันทา และ ปีพ.ศ.2500 โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทาแผนกสามัญฝ่ายประถม จึงมีฐานะเป็นโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยครูสวนสุนันทา มีอักษรปักที่หน้าอกเสื้อว่า ส.ว.ส. เสื้อสีขาว และ สวมกระโปรงสีน้ำเงินมีเอี๊ยมต่อมาราว พ.ศ. 2506 เกิดรอยร้าวที่อาคารหลายแห่ง จึงย้ายนักเรียนทั้งหมดไปเรียน ที่อาคาร 27 (ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบัน) เป็นการชั่วคราว อาจารย์บุปผา สุวรรณพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายประถม ได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากสำนักงบประมาณ ได้รับเงินงบประมาณ 2,200,000 บาท สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น รูปตัว L มี 14 ห้องเรียน โดยผู้ปกครองนักเรียนช่วยกันจัดหาครุภัณฑ์จนครบถ้วน ได้นำนักเรียนชั้น ป.5 - 7 ที่เคยเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมสาธิต มาเรียนรวมกับนักเรียนชั้น ป.1 – 4 ที่อาคารหลังใหม่นี้ เปิดอาคารเรียนเมื่อ วันที่ 10 มิถุนายน 2508 โดย ฯพณฯ มล.ปิ่น มาลากุล เปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนหญิงเป็นเสื้อคอวีสีขาวปกบัว ปล่อยชายไว้ด้านนอก แขนสั้น ไม่มีจีบปลาย แขน ผูกหูกระต่าย ระหว่างปก กระโปรงสีน้ำเงิน มีจีบข้างละ 3 จีบ รองเท้าดำ ถุงเท้าขาว ส่วนนักเรียนชายสวมกางเกงสีดำเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนสั้น เข็มขัดสีน้ำตาล เพื่อใช้เป็นเข็มขัดลูกเสือได้ ผู้ออกแบบเครื่องแบบนักเรียนชุดนี้คือ อาจารย์สุรางค์ศรี ศรีเพ็ญ ปักอักษรย่อ ที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย เป็นรูป “ส” อยู่ใต้พระมงกุฎมหากฐิน ซึ่งอาจารย์พิมล สายจันทร์ดี เป็นผู้ออกแบบ    

ปี พ.ศ. 2521 ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่คือมีเพียง 6 ระดับ ป.1 – 6 เปิดสอนระดับละ 2 ห้องเรียน ต่อมา พ.ศ. 2529 ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับรางวัลพระราชทานในฐานะโรงเรียน ประถมสาธิตดีเด่น พ.ศ. 2530 - 2531 ได้งบประมาณ สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น 7 ห้องเรียน (อาคาร 23 ในปัจจุบัน) ใช้เป็นห้องปฏิบัติการ ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องศิลปศึกษา ห้องงานประดิษฐ์ ห้องเรียนจริยธรรม และในปี พ.ศ. 2534 ได้อาคาร 3 ชั้น เพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง เป็นห้องเรียนของชั้น ป.5 – 6 (พ.ศ. 2540 มีการต่อเติมเป็น 4 ชั้น ปัจจุบันคืออาคาร 36)  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2537 มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏตาม พระราชบัญญัติสภาสถาบันราชภัฏวิทยาลัยครูสวนสุนันทา จึงเปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏสวนสุนันทาโรงเรียนประถม สาธิตจึงมีชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนประถมสาธิต สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา” สังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ

จากการที่บริเวณอาคารเดิมเป็นอาคารเก่า มีจุดชำรุดเสียหายหลายแห่งยากแก่การซ่อมบำรุงและอยู่ ในที่ลุ่มจึงมีน้ำท่วมขังที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผศ.ดร.ปรางศรี พณิชยกุล อธิการบดีในขณะนั้นจึงพิจารณาว่าสมควรให้จัดสร้างโรงเรียนขึ้นในที่ใหม่เพื่อโรงเรียน จะได้มีโอกาสพัฒนาต่อไปในอนาคต ดังนั้น วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนประถมสาธิตหลังใหม่ติดถนนสามเสน (อาคาร 16 ในปัจจุบัน) เป็นอาคารรูปตัว L ตามแบบเดิม เป็นอาคาร 4 ชั้น คือ ห้องโถง ชั้นล่างเปิดโล่ง และอีก 3 ชั้น เป็นห้องเรียน มีจำนวนทั้งสิ้น 15 ห้อง ซึ่งแต่เดิมโรงเรียนมีห้องเรียนและห้องกิจกรรมพิเศษจำนวน30 ห้อง ผศ.บังอร ทองพูนศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมอบให้ อ.ศิริพร สุตโต รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารดำเนินการจัดห้องต่าง ๆ ให้เพียงพอและเหมาะสม อ.ศิริพรจึงเสนอโครงการขอเพิ่มพื้นที่ และขอต่อเติมเพื่อความปลอดภัยของ นักเรียนอีกกว่าสิบรายการ เช่น กั้นตาข่ายรอบอาคารเรียนกั้นรั้วโรงเรียน ขอติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกห้อง ทางมหาวิทยาลัยจึงให้จัดสรรเงินจากการสร้างสนาม และสวนหย่อม หน้าอาคารเรียนรวมทั้งขยายพื้นที่โดยอนุญาต ให้ใช้ห้องเรียนของอาคาร 12 ชั้น 1 ทั้งหมด

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ผศ.ดร.เตือนใจ ทองสำริต ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ประถมสาธิตตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้พยายามปรับปรุงหลักสูตรและลักษณะทางกายภาพของโรงเรียนซึ่งเป็น อาคารใหม่ยังไม่มีการจัดตกแต่งใดๆให้เหมาะสม กับการเป็นโรงเรียนสาธิต โดยจัดพื้นที่ที่มีแต่อาคาร 5 ชั้น ให้มีห้องเรียนประจำของนักเรียน และห้องปฏิบัติการ ตามความจำเป็น ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนภาษาต่างประเทศ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องศิลปศึกษา ห้องดนตรีไทย ห้องนาฏศิลป์ ห้องโครงการเรียนร่วม นอกจากนี้ยังของบประมาณกั้นทางเดินอาคาร 12 ชั้นล่าง ให้เป็นส่วนของโรงเรียนประถมสาธิตโดยเฉพาะ และ ขอกั้นรั้วทางเข้าประตูด้านถนนอู่ทองนอก เพื่อกันบุคคลภายนอกเดินเข้าออกโรงเรียน วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ผศ.อำพร มากรักษาผู้อำนวยการมัธยมสาธิตฯ ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งรักษา ราชการแทน ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิตแทน ผศ.ดร.เตือนใจ ทองสำริต ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ผศ.อำพร ได้ปรับปรุงและพัฒนา โรงเรียนและจัดระบบ การบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา6 เดือน ท่านได้ดำเนินการดังนี้

     - สร้างรั้วเหล็กกั้นด้านหลังสนามเด็กเล่น

     - ปูพื้นหลังทิศใต้เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเล่นของเด็ก

     - จัดสร้างบ่อดักไขมันบริเวณโรงประกอบอาหาร

     - ติดตั้งสปอร์ตไลท์หน้าโรงเรียน

                 วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2547 ผศ.วันดี ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิตและในช่วงนี้เองโรงเรียนได้รับ การคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งแม้นจะเป็นภารกิจที่เคยปฏิบัติมาก่อนแล้วแต่เมื่อหลักสูตร ของคณะครุศาสตร์เปลี่ยนแปลงจากหลักสูตร 4 ปี เป็นหลักสูตร 5 ปี ดังนั้น การพัฒนานักเรียนจึงต้องควบคู่ไปกับการพัฒนานักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องนอกจากนี้ ผศ.วันดี ยังดำเนินการ ปรับสภาพภูมิทัศน์ด้านอาคาร 12 ให้ใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างเป็นสวนสุขภาพ

                 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ผศ.ดร.อุบล เลี้ยววาริณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะครุศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แทน ผศ.วันดี ทองใหญ่ ณ อยุธยา ซึ่งเกษียณ อายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2547 ในช่วงนี้เอง โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยจัดสภาพภูมิทัศน์ ให้เป็นสวนป่าบูรณาการให้สอดคล้องกับหลักสูตรโรงเรียนและให้เกิดความร่มรื่นตามคำแนะนำของคณะกรรมการประเมินสถานศึกษา โรงเรียนมีการพัฒนาปรับปรุงทั้งด้านหลักสูตรและสภาพภูมิทัศน์กล่าวคือ ปรับสภาพโรงเรียนให้เป็นสวนป่าตามพระประสงค์ ของพระพุทธเจ้าหลวงทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียนในด้านสิ่งแวดล้อมและเหมาะสมกับหลักสูตรบูรณาการของโรงเรียนในด้านหลักสูตรมี การจัดการเรียนรู้ เป็น2 หลักสูตร คือ หลักสูตร Gifted English Program และหลักสูตร Mini English Program ซึ่งเป็น หลักสูตร ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ ใช้ภาษาต่างประเทศ ในบริบทวัฒนธรรมไทย

                  เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 โรงเรียนประถมสาธิต ได้รับประทานพระกรุณา จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ในพระองค์ ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ บุคลากรของโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง

                                                                              

            

ยุคแรกฝ่ายมัธยม

                สำหรับแผนกมัธยม  เมื่อยุบชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2481 จึงมีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 เป็นชั้นสูงสุด และในปี พ.ศ. 2482 นักเรียนชั้นมัธยม  ปีที่ 7 นี้ก็จบชั้นมัธยมปีที่ 8 ดังนั้นนักเรียนในแผนกมัธยมจึงมีตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่  1  ถึงมัธยมปีที่  6  แบ่งเป็น นักเรียน 9 ห้องเรียนคือ

             มัธยมปีที่ 1 ถึง มัธยมปีที่ 3  ชั้นละ 1 ห้องเรียน  รวม  3  ห้องเรียน

             มัธยมปีที่ 4 ถึง มัธยมปีที่ 6  ชั้นละ 2 ห้องเรียน  รวม  6  ห้องเรียน

             นักเรียนมัธยมแต่งเครื่องแบบเช่นเดียวกับนักเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาแต่ปักอักษรย่อว่าส.ส.ว. ที่อกเบื้องซ้าย (สาธิตวิทยาลัยครูสวนสุนันทา)

             ในปี พ.ศ. 2501 โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยครูสวนสุนันทา" การจัดการศึกษาในแผนกมัธยมก็เปลี่ยนเป็น "ฝ่ายมัธยมสาธิต" มีอาจารย์หัวหน้าฝ่ายครู–อาจารย์ ในโรงเรียนมัธยมสาธิตเป็นตัวจักรกลในการดำเนินงาน และรับนักเรียนหญิงที่จบชั้นประถมปีที่   7 เข้าศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และเปลี่ยนอักษรย่อจาก  ส.ส.ว. เป็น ส.ว.ส.  (สาธิตวิทยาลัยครูสวนสุนันทา)                                                                            

            พ.ศ. 2508 เปลี่ยนแปลงการรับนักเรียนจากนักเรียนหญิงล้วนมาเป็นสหศึกษา ทางวิทยาลัย กำหนดเครื่องแบบ ของนักเรียนโรงเรียนสาธิตขึ้นใหม่และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

            พ.ศ. 2522 โรงเรียนมัธยมสาธิตได้จัดสอนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ คือ รับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1(ม.1) และยังรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 (รุ่นสุดท้าย) เข้าเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้วย

            พ.ศ. 2524 โรงเรียนมัธยมสาธิตได้จัดสอนตามหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) และเปิดแผนการเรียน 3 แผน คือ

             -  แผนการเรียนวิทยาศาสตร์

             -  แผนการเรียนคณิตศาสตร์ - ภาษาอังกฤษ

             -  แผนการเรียนภาษาอังกฤษ – ฝรั่งเศส

            พ.ศ. 2533 โรงเรียนมัธยมสาธิต ฯ มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวม 18 ห้องเรียนจำนวนนักเรียนทั้งหมด 771 คน ปี พ.ศ. 2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามใหม่ให้แก่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เป็นสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ดังนั้นโรงเรียนมัธยมสาธิตวิทยาลัยครูสวนสุนันทาจึงเปลี่ยนชื่อ  เป็นโรงเรียนมัธยมสาธิต-สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา และได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น  มหาวิทยาลัย ในวันที่ 15 มิถุนายน 2547 จึงเปลี่ยนชื่อ  เป็นโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

             พ.ศ. 2547  โรงเรียนมัธยมสาธิต ฯ เปิดรับนักเรียนในโครงการ GEp  (Gifted English Program) จำนวน 3 ห้องเรียน โดยนักเรียนจะได้เรียนภาษาอังกฤษ กับอาจารย์เจ้าของภาษาและในปีนี้เอง ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัย ในวันที่ 15 มิถุนายน 2547 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา"                                                                          

              พ.ศ. 2549 โรงเรียนมัธยมสาธิต ฯ เปิดรับนักเรียน ในโครงการ Ep (English Program) จำนวน 1 ห้องเรียน สรุปมี ชั้น ม.1 โครงการ GEp จำนวน 2 ห้อง โครงการ Ep จำนวน 1 ห้อง

              พ.ศ. 2550 โรงเรียนมัธยมสาธิต ฯ เปิดรับนักเรียนในโครงการ Ep (English Program) จำนวน 2 ห้องเรียน และนักเรียนโครงการ GEp จำนวน 2 ห้อง ดังนั้น ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมัธยมฯ ได้เปิดการเรียนการสอน ดังนี้               ช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1(ม.1 โครงการ GEp จำนวน 2 ห้อง ;      โครงการ Ep จำนวน 2 ห้องเรียน)

         มัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ระดับชั้นละ 3 ห้องเรียน รวม 10 ห้องเรียน

        ช่วงชั้นที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ระดับชั้นละ 3 ห้องเรียน รวม 9

       ห้องเรียน(แผนการเรียนวิทย์-คณิตฯ 2 ห้อง ;  แผนการเรียนคณิตฯ-อังกฤษ 1 ห้อง)         

          พ.ศ.2551 โรงเรียนมัธยมสาธิตฯ มีห้องเรียนดังนี้  

          ช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ระดับชั้นละ 4 ห้องเรียน (โครงการ GEP จำนวน 2 ห้องเรียน ; โครงการ EP จำนวน 2 ห้องเรียน) มัธยมศึกษาปีที่ 3 มี 3 ห้องเรียน (โครงการ GEP จำนวน 2 ห้องเรียน ; โครงการ EP จำนวน 1 ห้องเรียน) รวม 11 ห้องเรียน

        ช่วงชั้นที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับชั้นละ 3 ห้องเรียน รวม 9 ห้องเรียน (แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ จำนวน 2 ห้องเรียน ; แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – ภาษาอังกฤษ จำนวน 1 ห้องเรียน)

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

                วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดตั้ง และการบริหารงาน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามีผลบังคับใช้ซึ่งตามข้อบังคับให้รวมโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนสุนันทาเป็น โรงเรียนเดียวกัน และใช้ชื่อใหม่ว่าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  โดยมีอาจารย์สุชาติ นิลสำราญจิต เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตามข้อบังคับฯได้ 1 ปี 2 เดือน หลังจากนั้นได้ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองกลาง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2552 โดยมีอธิการบดี ช่วงโชติ พันธุเวช มารักษาการแทน จึงมีการสรรหา ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตฯคนใหม่ และได้ ผศ.ทวีป พรหมอยู่ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน สาธิตฯ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 และได้ลาออกในเดือนมกราคม 2557

        เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้ง อาจารย์ ดร.วิชาญ เลิศลพ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

        ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558 ได้มีการแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ กอบัวแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนถึงปัจจุบัน

อาคารของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีทั้งหมด  5 อาคาร

                อาคาร  12   อาคารเรียนของโครงการภาคภาษาอังกฤษ และ ประถม มีทั้งหมด 3 ชั้น

                อาคาร 13   อาคารเรียนของนักเรียนฝ่ายมัธยม และฝ่ายวิชาการของโรงเรียน(มัธยม) มีทั้งหมด 3 ชั้น

                อาคาร 14   อาคารเรียนของนักเรียนฝ่ายมัธยม ห้องปฏิบัติการต่างๆ โรงอาหาร และห้องออกกำลังกาย มีทั้งหมด 5 ชั้น

                อาคาร 15   อาคารเรียนของนักเรียนฝ่ายมัธยม  และห้องธุรการ มีทั้งหมด 3 ชั้น

                อาคาร 16  อาคารเรียนของนักเรียนฝ่ายประถม มีห้องปฏิบัติการ ห้องประชุม และห้องสำนักงานฝ่ายต่างๆ มีทั้งหมด 4 ชั้น